วันศุกร์, มกราคม 25, 2551

ไวรัสตับอักเสบ บี ปัญหาใหญ่ของคนไทย

ไวรัสที่เป็นสาเหตุของตับอักเสบในปัจจุบันมาหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ เอ, บี, ซี, ดี, อี, จี เป็นต้น แต่ที่พบบ่อยและเป็นปัญหาในปัจจุบัน เนื่องจากทำให้ผู้ได้รับเชื้อกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง, เป็นพาหะ และมะเร็งตับได้ มี 2 ชนิดที่สำคัญ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี
ไวรัสตับอักเสบ บี เป็นไวรัสที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับอักเสบเรื้อรัง และตับแข็งในคนไทย อันนำไปสู่โรคมะเร็งตับ ในที่สุด เชื้อไวรัสนี้ จะติดต่อได้ทางเลือด, เพศสัมพันธ์ และจากแม่สู่ลูกในเด็กแรกเกิด เท่านั้น พบคนไทยเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ บี ราวร้อยละ 8-10 ของประชากรทั้งหมด คิดเป็นจำนวน 6-7 ล้านคน
สำหรับไวรัสตับอักเสบ ซี พบในผู้ที่มีประวัติเคยได้รับเลือด ทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง, และกลายเป็นตับแข็ง - มะเร็งตับได้เช่นเดียวกัน แต่ยังพบในประชากรทั่วไป น้อยกว่าไวรัสตับอักเสบ บี มาก
จะรู้ได้อย่างไร ว่าเราติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี หรือไม่
สำหรับผู้ที่มีอาการตับอักเสบ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืดท้องเฟ้อ และตามมาด้วยอาการตัวเหลืองตาเหลือง สามารถตรวจพบได้ง่าย แพทย์จะทำการตรวจเลือดดูการทำหน้าที่ของตับ (Liver function test) และตรวจหาไวรัสตับอักเสบ ซึ่งตรวจ ไวรัสตับอักเสบ บี ด้วย ทำให้เราสามารถทราบได้ว่าเกิดจากไวรัสชนิดใด
สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการใด ๆ มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเลือดพบว่า การทำหน้าที่ของตับผิดปกติเล็กน้อย และตรวจพบการติดเชื้อดังกล่าว หรือตรวจเลือดในการตรวจร่างกายประจำปี รวมทั้งการบริจาคเลือดเป็นต้น
จากการตรวจเลือดทำให้แพทย์สามารถทราบได้ว่า ผู้ใด มีการติดเชื้อมาก่อนหน้านี้ และหายขาด, ผู้ใดมีการติดเชื้อและเป็นเรื้อรัง, เป็นพาหะ, ผู้ใดไม่เคยมีการติดเชื้อมาก่อนเลย หรือ ผู้ใดมีการฉีดวัคซีนป้องกันเรียบร้อยแล้ว
ตรวจเลือดพบว่าเป็นพาหะ ไม่เคยได้รับเลือด หรือมีเพศสัมพันธ์ แล้วจะติดมาจากไหน ?
เกือบทั้งหมดของผู้ที่ตรวจพบพาหะหรือการติดเชื้อเรื้อรังของไวรัสตับอักเสบ บี จะได้รับเชื้อนี้มาจากมารดาในขณะคลอด เนื่องจากมารดามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี อยู่แล้วโดยไม่มีอาการ เด็กที่เกิดจากมารดาที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ บี นั้น มีโอกาสกลายเป็นพาหะของไวรัสชนิดนี้ได้ถึง ร้อยละ 50-90 ถ้าไม่ได้รับวัคซีนป้องกันหลังคลอด
สำหรับผู้ที่ได้รับเลือดมาภายใน 10 ปีนี้ ท่านสบายใจได้ครับว่า ไม่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จากเลือดได้ เนื่องจากธนาคารเลือดของโรงพยาบาลทุกแห่ง ทั่วประเทศ มีการตรวจเลือดผู้บริจาคเพื่อหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ก่อนเก็บเข้าสู่ธนาคารเลือดครับ และถ้าผู้บริจาคมีไวรัสตับอักเสบ จะได้รับทราบผลและได้รับคำแนะนำอย่างดีทุกคนครับ
จะทำอย่างไร ถ้าตัวเองเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ บี
ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรัง แบ่งได้เป็น 2 ประเภทได้แก่ ผู้ที่เป็นตับอักเสบ เรื้อรัง จะตรวจพบความผิดปกติของผลเลือดแสดงการทำหน้าที่ของตับ (Abnormal liver function test) ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการใด ๆ ให้เห็น ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะกลายเป็นตับแข็งในที่สุด และมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ
ผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่ง ตรวจการทำหน้าที่ของตับแล้วพบว่าปกติดี กลุ่มนี้เรียกว่า "พาหะ" (Asymptomatic carrier) จะไม่พบว่าเกิดตับอักเสบ แต่มีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายและสามารถแพร่ให้ผู้อื่นได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ สามารถเกิดตับอักเสบเรื้อรัง และกลายเป็นตับแข็ง แบบผู้ป่วยกลุ่มแรกได้
ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เรื้อรัง ควรปฏิบัติตัวดังนี้
ควรได้รับการตรวจร่างกายสม่ำเสมอจากแพทย์ เพื่อตรวจดูการทำหน้าที่ของตับเป็นระยะ สำหรับผู้ที่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง ควรได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในระบบทางเดินอาหารและโรคตับ
ควรได้รับการตรวจเลือดหาระดับ Alpha-fetoprotein และทำอัลตราซาวนด์ช่องท้อง สม่ำเสมอทุกปี เพื่อหามะเร็งตับแต่เริ่มแรก เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับสูงกว่าคนปกติ 40-350 เท่า (ขึ้นกับว่ามีตับแข็งหรือไม่ ตับอักเสบเป็นรุนแรงมากหรือน้อยเพียงใด)
งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด หลีกเลี่ยงถั่วคั่ว, พริกป่น เนื่องจากอาจมีเชื้อราที่สร้างสารพิษ Alphatoxin ที่เป็นพิษต่อตับได้
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง
ผู้ป่วยโรคตับ ไม่มีความจำเป็นต้องกินน้ำหวานบ่อย ๆ ยังมีความเชื่อและคำแนะนำเก่า ๆ อยู่ว่าผู้ที่ตับไม่ดีควรกินน้ำหวานมาก ๆ เพราะการทำเช่นนี้ไม่ช่วยให้ตับดีขึ้นแต่อย่างใด ซ้ำร้ายผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน การทำเช่นนี้ทำให้โรคเบาหวานเป็นรุนแรงขึ้นและควบคุมระดับน้ำตาลได้ยาก
การรักษาผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรัง และการป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี
ปัจจุบันมีการรักษาผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบ บี ด้วยการฉีด Interferon โดยอาจร่วมกับการกินยาด้วย ผลการรักษานั้นยังไม่ค่อยดีนัก ได้ผลทำให้หายขาดได้ประมาณไม่เกินร้อยละ 40 การรักษายังมีผลข้างเคียงจากยา Interferon เช่นอาการไข้ หนาวสั่นคล้ายเป็นไข้หวัด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายสูงมาก (เกิน 1 แสนบาท)
สำหรับวิธีที่ดีที่สุด คงเป็นการป้องกันการติดเชื้อนี้ ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ซึ่งได้ผลดีมาก วัคซีนมีจำหน่ายทั่วไป โดยฉีดเข้ากล้ามบริเวณต้นแขน ครั้งละ 1 เข็ม จำนวน 3 ครั้ง สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน และป้องกันการติดเชื้อได้ตลอดชีวิต แนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ทุกรายที่ตรวจเลือดแล้วพบว่าไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน สำหรับผู้ที่เป็นพาหะหรือเคยได้รับเชื้อมาก่อน การฉีดวัคซีนไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด
เป็นที่น่ายินดีมากว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี เป็นวัคซีนพื้นฐานที่จะฉีดให้เด็กแรกเกิดทุกราย ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และช่วยลดการเกิดพาหะของเชื้อนี้ให้น้อยลง เป็นความหวังที่จะกำจัดเชื้อนี้ให้หมดไปได้จากประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น: