ไวรัสที่เป็นสาเหตุของตับอักเสบในปัจจุบันมาหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ เอ, บี, ซี, ดี, อี, จี เป็นต้น แต่ที่พบบ่อยและเป็นปัญหาในปัจจุบัน เนื่องจากทำให้ผู้ได้รับเชื้อกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง, เป็นพาหะ และมะเร็งตับได้ มี 2 ชนิดที่สำคัญ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี
ไวรัสตับอักเสบ บี เป็นไวรัสที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับอักเสบเรื้อรัง และตับแข็งในคนไทย อันนำไปสู่โรคมะเร็งตับ ในที่สุด เชื้อไวรัสนี้ จะติดต่อได้ทางเลือด, เพศสัมพันธ์ และจากแม่สู่ลูกในเด็กแรกเกิด เท่านั้น พบคนไทยเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ บี ราวร้อยละ 8-10 ของประชากรทั้งหมด คิดเป็นจำนวน 6-7 ล้านคน
สำหรับไวรัสตับอักเสบ ซี พบในผู้ที่มีประวัติเคยได้รับเลือด ทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง, และกลายเป็นตับแข็ง - มะเร็งตับได้เช่นเดียวกัน แต่ยังพบในประชากรทั่วไป น้อยกว่าไวรัสตับอักเสบ บี มาก
จะรู้ได้อย่างไร ว่าเราติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี หรือไม่
สำหรับผู้ที่มีอาการตับอักเสบ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืดท้องเฟ้อ และตามมาด้วยอาการตัวเหลืองตาเหลือง สามารถตรวจพบได้ง่าย แพทย์จะทำการตรวจเลือดดูการทำหน้าที่ของตับ (Liver function test) และตรวจหาไวรัสตับอักเสบ ซึ่งตรวจ ไวรัสตับอักเสบ บี ด้วย ทำให้เราสามารถทราบได้ว่าเกิดจากไวรัสชนิดใด
สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการใด ๆ มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเลือดพบว่า การทำหน้าที่ของตับผิดปกติเล็กน้อย และตรวจพบการติดเชื้อดังกล่าว หรือตรวจเลือดในการตรวจร่างกายประจำปี รวมทั้งการบริจาคเลือดเป็นต้น
จากการตรวจเลือดทำให้แพทย์สามารถทราบได้ว่า ผู้ใด มีการติดเชื้อมาก่อนหน้านี้ และหายขาด, ผู้ใดมีการติดเชื้อและเป็นเรื้อรัง, เป็นพาหะ, ผู้ใดไม่เคยมีการติดเชื้อมาก่อนเลย หรือ ผู้ใดมีการฉีดวัคซีนป้องกันเรียบร้อยแล้ว
ตรวจเลือดพบว่าเป็นพาหะ ไม่เคยได้รับเลือด หรือมีเพศสัมพันธ์ แล้วจะติดมาจากไหน ?
เกือบทั้งหมดของผู้ที่ตรวจพบพาหะหรือการติดเชื้อเรื้อรังของไวรัสตับอักเสบ บี จะได้รับเชื้อนี้มาจากมารดาในขณะคลอด เนื่องจากมารดามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี อยู่แล้วโดยไม่มีอาการ เด็กที่เกิดจากมารดาที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ บี นั้น มีโอกาสกลายเป็นพาหะของไวรัสชนิดนี้ได้ถึง ร้อยละ 50-90 ถ้าไม่ได้รับวัคซีนป้องกันหลังคลอด
สำหรับผู้ที่ได้รับเลือดมาภายใน 10 ปีนี้ ท่านสบายใจได้ครับว่า ไม่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จากเลือดได้ เนื่องจากธนาคารเลือดของโรงพยาบาลทุกแห่ง ทั่วประเทศ มีการตรวจเลือดผู้บริจาคเพื่อหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ก่อนเก็บเข้าสู่ธนาคารเลือดครับ และถ้าผู้บริจาคมีไวรัสตับอักเสบ จะได้รับทราบผลและได้รับคำแนะนำอย่างดีทุกคนครับ
จะทำอย่างไร ถ้าตัวเองเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ บี
ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เรื้อรัง แบ่งได้เป็น 2 ประเภทได้แก่ ผู้ที่เป็นตับอักเสบ เรื้อรัง จะตรวจพบความผิดปกติของผลเลือดแสดงการทำหน้าที่ของตับ (Abnormal liver function test) ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการใด ๆ ให้เห็น ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะกลายเป็นตับแข็งในที่สุด และมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ
ผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่ง ตรวจการทำหน้าที่ของตับแล้วพบว่าปกติดี กลุ่มนี้เรียกว่า "พาหะ" (Asymptomatic carrier) จะไม่พบว่าเกิดตับอักเสบ แต่มีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายและสามารถแพร่ให้ผู้อื่นได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ สามารถเกิดตับอักเสบเรื้อรัง และกลายเป็นตับแข็ง แบบผู้ป่วยกลุ่มแรกได้
ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เรื้อรัง ควรปฏิบัติตัวดังนี้
ควรได้รับการตรวจร่างกายสม่ำเสมอจากแพทย์ เพื่อตรวจดูการทำหน้าที่ของตับเป็นระยะ สำหรับผู้ที่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง ควรได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในระบบทางเดินอาหารและโรคตับ
ควรได้รับการตรวจเลือดหาระดับ Alpha-fetoprotein และทำอัลตราซาวนด์ช่องท้อง สม่ำเสมอทุกปี เพื่อหามะเร็งตับแต่เริ่มแรก เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับสูงกว่าคนปกติ 40-350 เท่า (ขึ้นกับว่ามีตับแข็งหรือไม่ ตับอักเสบเป็นรุนแรงมากหรือน้อยเพียงใด)
งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด หลีกเลี่ยงถั่วคั่ว, พริกป่น เนื่องจากอาจมีเชื้อราที่สร้างสารพิษ Alphatoxin ที่เป็นพิษต่อตับได้
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง
ผู้ป่วยโรคตับ ไม่มีความจำเป็นต้องกินน้ำหวานบ่อย ๆ ยังมีความเชื่อและคำแนะนำเก่า ๆ อยู่ว่าผู้ที่ตับไม่ดีควรกินน้ำหวานมาก ๆ เพราะการทำเช่นนี้ไม่ช่วยให้ตับดีขึ้นแต่อย่างใด ซ้ำร้ายผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน การทำเช่นนี้ทำให้โรคเบาหวานเป็นรุนแรงขึ้นและควบคุมระดับน้ำตาลได้ยาก
การรักษาผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรัง และการป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี
ปัจจุบันมีการรักษาผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบ บี ด้วยการฉีด Interferon โดยอาจร่วมกับการกินยาด้วย ผลการรักษานั้นยังไม่ค่อยดีนัก ได้ผลทำให้หายขาดได้ประมาณไม่เกินร้อยละ 40 การรักษายังมีผลข้างเคียงจากยา Interferon เช่นอาการไข้ หนาวสั่นคล้ายเป็นไข้หวัด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายสูงมาก (เกิน 1 แสนบาท)
สำหรับวิธีที่ดีที่สุด คงเป็นการป้องกันการติดเชื้อนี้ ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ซึ่งได้ผลดีมาก วัคซีนมีจำหน่ายทั่วไป โดยฉีดเข้ากล้ามบริเวณต้นแขน ครั้งละ 1 เข็ม จำนวน 3 ครั้ง สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน และป้องกันการติดเชื้อได้ตลอดชีวิต แนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ทุกรายที่ตรวจเลือดแล้วพบว่าไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน สำหรับผู้ที่เป็นพาหะหรือเคยได้รับเชื้อมาก่อน การฉีดวัคซีนไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด
เป็นที่น่ายินดีมากว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี เป็นวัคซีนพื้นฐานที่จะฉีดให้เด็กแรกเกิดทุกราย ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และช่วยลดการเกิดพาหะของเชื้อนี้ให้น้อยลง เป็นความหวังที่จะกำจัดเชื้อนี้ให้หมดไปได้จากประเทศ
วันศุกร์, มกราคม 25, 2551
วันเสาร์, มกราคม 12, 2551
วิชาการจัดการนวัตกรรมและสารสนเทศ
บทที่ 1................................................
บทที่ 2................................................
บทที่ 3................................................
บทที่ 4................................................
บทที่ 5................................................
บทที่ 6................................................
บทที่ 2................................................
บทที่ 3................................................
บทที่ 4................................................
บทที่ 5................................................
บทที่ 6................................................
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)